ประวัติของข้าพเจ้า, Kagayaki Miyazaki2. เกลียดการแพ้

ข้าพเจ้าเป็นคนตัวเล็กตั้งแต่เด็กและก็ไม่ได้มีพลังแขนเท่าไรแต่เป็นคนที่เกลียดการแพ้ อาจเป็นเพราะการสั่งสอนจากบิดาจึงทำให้เป็นคนที่รักความยุติธรรมกว่าคนอื่นเป็นเท่าตัว
เมื่อพูดถึงคนที่มีอิทธิพลในหมู่บ้านในสมัยนั้นจะนึกถึงผู้ใหญ่บ้าน อาจารย์ใหญ่ หรือแพทย์ แต่ในบรรดาคนเหล่านั้นมีเด็กที่วางอำนาจใหญ่โตโดยใช้อาชีพของพ่อแม่เป็นเครื่องมือ และเด็กคนนั้นมักจะกลั่นแกล้งเด็กคนอื่น ๆ ที่อยู่รอบข้าง
แม้ข้าพเจ้าจะยังเด็กแต่ก็รู้สึกโกรธกับความไม่ชอบธรรมนั้น วันหนึ่งข้าพเจ้าจึงเรียกเด็กคนนั้นออกมาแล้วเตือนว่า “เลิกวางอำนาจใหญ่โตได้แล้ว” แต่ไม่เห็นว่าเขาจะสำนึกผิดแต่อย่างใด ข้าพเจ้าจึงผลักเด็กคนนั้นตกลงไปในคลองที่ไหลผ่านหน้าบ้านของเขาเพื่อให้หลาบจำ

โรงเรียนประถมที่ข้าพเจ้าเข้าเรียนมีชื่อว่าโรงเรียนประถมศึกษา Yamada (ปัจจุบันมีชื่อว่าโรงเรียนประถมศึกษา Otsuka ประจำแขวง Azuma-cho) อยู่ห่างจากหมู่บ้านของข้าพเจ้าด้วยการเดินเท้าประมาณ 40 นาที ข้าพเจ้าจึงไปเรียนที่ห้องเรียนแยกที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ จนถึง ป.4
พอขึ้น ป.5 ก็ได้ไปเรียนที่โรงเรียนหลักเสียทีแต่ครูประจำชั้นเลือกปฏิบัติระหว่างพวกเรานักเรียนจากห้องเรียนแยกกับนักเรียนในโรงเรียนหลัก เป็นการกระทำที่โหดร้ายเหลือเกิน ข้าพเจ้าจึงพาคนที่มาจากห้องเรียนแยกไปบุกบ้านอาจารย์ใหญ่และเรียกร้องให้ “เปลี่ยนครูประจำชั้น” จำได้ว่าไปกันประมาณ 10 กว่าคน ทุกคนถือไม้กวาดไปและฟ้องร้องว่าเป็นการ “เลือกปฏิบัติอย่างไม่ชอบธรรม”
ไม่รู้ว่าการต่อต้านของพวกเราได้ผลหรือว่าอย่างไร หลังจากนั้นครูประจำชั้นได้ย้ายไปโรงเรียนอื่น จนถึงวันนี้ยังจำได้ว่าวันที่จะต้องลาจากนั้น พวกเราถูกเรียกไปรวมตัวกันในสนามของโรงเรียนแล้วได้มีเสียงตะโกนเสียงดังว่า “มีเกิดก็ต้องมีดับ มีพบก็ต้องมีจาก”
ตามหลักการแล้ว หากข้าพเจ้าในฐานะผู้นำประท้วงจะถูกไล่ออกจากโรงเรียนก็คงไม่แปลก แต่อาจารย์ใหญ่ท่านนี้มีวุฒิภาวะสูง กลับเป็นว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ท่านเอาใจใส่ข้าพเจ้ามากขึ้น

ผู้ที่แนะนำให้ข้าพเจ้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นก็คืออาจารย์ใหญ่ท่านนี้เอง บิดามารดาของข้าพเจ้าต้องการให้ข้าพเจ้าเรียนต่อในวิทยาลัยครูเพื่อจบมาเป็นครูแต่ยอมแพ้ต่อการเกลี้ยกล่อมด้วยศรัทธาอันแรงกล้าของอาจารย์ใหญ่ จึงยอมให้เรียนต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษา สมัยนั้นในชนบทอย่างหมู่บ้าน Yamada เด็กที่มีผลการเรียนดีจะเข้าเรียนต่อในวิทยาลัยครู แทบไม่มีใครเรียนต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นเลย ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นบุญคุณของอาจารย์ใหญ่ท่านนี้ที่ทำให้มีข้าพเจ้าในทุกวันนี้
ข้าพเจ้าเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น Shimabara ประจำจังหวัด Nagasaki (โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย Shimabara ในปัจจุบัน) เนื่องจากโรงเรียนอยู่ไกลบ้านจึงขอพักอาศัยที่วัดลัทธิเซ็นชื่อว่าวัด Seiun-ji ผู้ที่แนะนำวัดนี้ให้แก่ข้าพเจ้าก็คืออาจารย์ใหญ่ ท่านคงคิดว่าอยู่วัดคงจะเป็นการฝึกทั้งกายและใจไปด้วย
ซึ่งก็เป็นจริงเช่นนั้น ชีวิตในวัดเข้มงวดเหมาะแก่การฝึกทั้งกายและใจจริง ๆ ทุกเช้าข้าพเจ้าตื่นราว ๆ ตี 4 เมื่อถูพื้นโบสถ์และระเบียง ทำความสะอาดพื้นที่วัดอันกว้างขวางแล้ว จะนั่งสมาธิร่วมกับพระฝึกหัด เมื่อปฏิบัติธรรมเรียบร้อยแล้วจะเตรียมอาหารเช้า เรียกได้ว่ายุ่งจนตาลายเลยทีเดียว
อาหารเช้าเป็นของพื้น ๆ มีกับข้าว 1 อย่าง น้ำซุป 1 อย่าง แต่อาจเป็นเพราะใช้กำลังตั้งแต่เช้าจึงรับประทานอย่างเอร็ดอร่อยทุกครั้ง การตื่นมารับเช้าวันใหม่ด้วยความรู้สึกที่สดชื่นทั้งกายและใจเป็นความสุขสำหรับข้าพเจ้าเหนือสิ่งอื่นใด

ข้าพเจ้าเดินจากวัดไปโรงเรียนใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที หลังเลิกเรียนส่วนใหญ่จะกลับวัดทันทีโดยไม่แวะที่ไหน ข้าพเจ้าต้องเก็บแผ่นไม้บูชาหรือกิ่งไม้เก่า ๆ มาต้มน้ำอาบและเตรียมอาหารเย็นจึงไม่มีเวลาเที่ยวเล่น เวลากลางคืนนอกจากอ่านหนังสือทบทวนบทเรียนและเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนในวันรุ่งขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าใช้เวลาในการอ่านหนังสือบ้าง เรียนพระสูตรบ้าง
สมัยนั้นที่วัดมีวารสารปรัชญาชื่อว่า “Asia no Hikari (แสงแห่งเอเชีย)” คงมีคนส่งมาเพราะเห็นว่าเป็นวัด ข้าพเจ้าอ่านวารสารนี้บ่อยครั้ง ช่วงแรก ๆ รู้สึกว่ายากและไม่สามารถทำความเข้าใจเนื้อหาได้เท่าไรนักแต่ค่อย ๆ เข้าใจขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียน ม.ต้น ปีที่ 4-5 ข้าพเจ้าได้ให้ความสนใจในปรัชญาอินเดีย

ดังนั้น เนื่องจากวัด Seiun-ji เป็นลัทธิ Soto-shu ข้าพเจ้าจึงวาดภาพในอนาคตว่า “ในอนาคตอยากเข้าวัด Soji-ji หรือวัด Eihei-ji เพื่อเป็นพระสงฆ์ผู้น่าเลื่อมใส” แต่ระหว่างที่สัมผัสกับพระสงฆ์อยู่ทุก ๆ วันทำให้ความมุ่งมั่นที่จะบวชพระค่อย ๆ เคลือบแคลง
เป็นเพราะชีวิตประจำวันของพวกเขาเสื่อมโทรมเสียเหลือเกิน พวกเขาดื่มสุราและเที่ยวผู้หญิงยิ่งกว่าฆราวาส มันอาจจะเป็นเรื่องทั่วไปในยุคปัจจุบัน แต่มันทำให้นักเรียน ม.ต้น ผู้ใสซื่อบริสุทธิ์ต้องสิ้นหวัง และในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้เลิกล้มความตั้งใจที่จะเดินไปบนทางสายนักบวช
ในวันพิธีสำเร็จการศึกษา ข้าพเจ้าเป็นตัวแทนนักเรียนกล่าวสุนทรพจน์ซึ่งข้าพเจ้ายังจำคำสุดท้ายที่ข้าพเจ้าพูดได้จนถึงทุกวันนี้ว่า “โลภวิชามากเกินไป สุดท้ายจะไปไม่ถึงความจริง”
แม้จะลำบากแต่เป็นช่วงเวลาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่คุ้มค่าจริง ๆ

  • Soto Zen พระวิหาร, Kogaku-san Seiiun-ji (Shimabara ประจำจังหวัด Nagasaki)