ประวัติของข้าพเจ้า, Kagayaki Miyazaki12. การบุกเบิกธุรกิจ

การสร้างระบบผลิตครบวงจรตั้งแต่วัตถุดิบช่วยเสริมสร้างคุณลักษณะของ Cashmilon อย่างแน่ชัด พูดได้ว่าเราเป็นที่หนึ่งในด้านเส้นใยอะคริลิก แต่เท่านี้ยังไม่เพียงพอ เราไม่สามารถคาดหวังการเติบโตของเส้นใยรีไซเคิลอย่างเรยอน หรือ เบมเบิร์ก ฯลฯ ได้มากเท่าไรแล้ว ไม่ว่าอย่างไรเราก็จำเป็นต้องสร้างเสาหลักที่สองและสามต่อจาก Cashmilon ให้ได้
ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะลงมือในธุรกิจใด ความคิดพื้นฐานของข้าพเจ้าคือการสร้างจุดยืนที่มั่นคงยิ่งขึ้นในฐานะผู้ผลิตใยสังเคราะห์ พร้อมกับการพัฒนาในสาขานอกเหนือจากเส้นใยเพื่อสร้างศักยภาพที่ครบวงจรให้แก่บริษัท

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงได้เริ่มระดมสมองหาความรู้เกี่ยวกับธุรกิจใหม่ไปพร้อม ๆ กับพนักงานสำนักงานสำรวจผู้รับผิดชอบแผนกลยุทธ์ระยะยาว โดยรวบรวมสมาชิกเฉพาะคนอายุยังน้อยที่ทำงานที่บริษัทได้ไม่กี่ปีเนื่องจากคิดว่าพวกเขาจะไม่ยึดติดอยู่กับแนวคิดที่มีอยู่แต่จะเสนอไอเดียด้วยความรู้สึกที่สดใหม่
แล้วก็เป็นอย่างที่คิดจริง ๆ พวกเขาเคลื่อนไหวอย่างกระตือรือร้น หาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับอนาคตของธุรกิจและโอกาสการเข้าร่วมการแข่งขันของ Asahi Kasei โดยไม่แบ่งว่าเป็นวงการเส้นใยหรือไม่
การระดมสมองนี้ดำเนินไปเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี แต่เนื่องจากข้าพเจ้ามีภารกิจยุ่งในเวลากลางวัน เราจึงมักจะรวมตัวกันเวลากลางคืนโดยมารวมตัวกันที่หอพักพนักงานย่าน Shiba กรุง Tokyo และถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันจนถึงดึกดื่น
ผลจากการระดมสมองคือเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา กล่าวคือ เราได้ไอเดียเกี่ยวกับธุรกิจ 3 ประเภท ได้แก่ ไนลอนสำหรับวงการเส้นใย ยางสังเคราะห์สำหรับวงการปิโตรเคมี และวัสดุก่อสร้างซึ่งเป็นวงการใหม่สำหรับเรา
ขณะนั้น ประเทศญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของระยะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง ผู้คนต่างเรียกเครื่องซักผ้า ตู้เย็นและโทรทัศน์ขาวดำว่าเป็น “Sanshu no Jingi (3 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า)” พนักงานที่ยังอายุน้อยของเราแปลงชื่อนั้นเป็น “Sanshu no Shinki (3 ธุรกิจใหม่)” เป็นการเล่นคำที่ยอดเยี่ยมทีเดียว

ไนลอนเป็นตัวแรกที่เรานำมาพัฒนาเป็นธุรกิจ อย่างที่ทราบโดยทั่วกันว่าไนลอนเป็นใยสังเคราะห์ชนิดแรกในโลกที่กลายมาเป็นอุตสาหกรรม ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็ได้นำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศโดยเริ่มผลิตโดยบริษัท Toyo Rayon ตามด้วย Nippon Rayon (UNITIKA ในปัจจุบัน) ซึ่งเรา Asahi Kasei เดินตามหลังพวกเขา
ในอดีต Asahi Kasei ก็เคยจับตามองการเติบโตของไนลอนและพิจารณาที่จะนำมาพัฒนาเป็นธุรกิจเช่นกัน คือในช่วงที่นำเข้าเทคโนโลยี Saran ในปี 1950-1951 นั่นเอง ช่วงนั้นเรามีกำลังพอที่จะดำเนินธุรกิจทั้งไนลอนและ Saran พร้อมกัน แต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าบริษัทเรามีเทคโนโลยีในการผลิต Saran ด้วยตัวเอง จึงได้เลื่อนกำหนดการผลิตไนลอนออกไป
หากเราเริ่มธุรกิจไนลอนในครั้งนั้นแล้วเข้าสู่ตลาดโพลีเอสเตอร์หลังจากนั้น เราคงจะเติบโตเป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูงเร็วกว่านี้

ว่าแต่ว่า คณะกรรมการบริหารแสดงท่าทีที่เข้มงวดต่อการเริ่มธุรกิจไนลอนโดยกล่าวว่ามี 2 บริษัทเข้าครองตลาดอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเข้าไปแข่งขัน และยังมีกรรมการบริหารที่กังวลต่อการขยายกิจการอย่างรวดเร็วหลังจากที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดธุรกิจใหม่ติด ๆ กันสำหรับ Cashmilon และอะคริโลไนไตรล์ มอนอเมอร์
แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ขยายกิจการโดยมิได้พินิจพิเคราะห์แต่ได้สำรวจหาข้อมูลล่วงหน้าอย่างเพียงพอก่อนการตัดสินใจ
ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่เปลี่ยนใจเรื่องการเริ่มธุรกิจไนลอน แถมยังไม่ได้คิดจะผลิตไนลอน 6 อย่างที่บริษัทอื่น ๆ ได้ผลิตก่อนแล้วแต่คิดที่จะผลิตไนลอน 66 ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งถ้าทำเช่นนั้น แม้เราจะเข้าสู่ตลาดหลังรายอื่นแต่เราก็จะสามารถบุกเบิกตลาดได้ แต่จากการสำรวจสภาพการณ์จริงในยุโรปและอเมริกาเป็นเวลา 40 วันก็พบว่าการหาวัตถุดิบสำหรับไนลอน 66 เป็นเรื่องยาก เราจึงตัดสินใจเริ่มจากไนลอน 6 ก่อน หากแต่เราเข้าสู่ตลาดโดยจำกัดเฉพาะไนลอนสำหรับใยเสริมยางในช่วงแรกเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขัน

ในที่สุดเมื่อได้มติมหาชนในบริษัท เราจึงได้นำเข้าเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเป็นสารโพลีเมอร์จากบริษัท Zimmer ประเทศเยอรมนีตะวันตก และเทคโนโลยีตั้งแต่กระบวนการปั่นด้ายจากบริษัท Firestone สหรัฐอเมริกา แล้วเริ่มก่อสร้างโรงงานที่มีกำลังผลิต 6.2 ตันต่อวันใน Nobeoka ในเดือนเมษายน 1963 และเริ่มปฏิบัติการในเดือนกุมภาพันธ์ 1964
หลังจากนั้น เราได้บุกเบิกลูกค้าผู้มีความต้องการไนลอนสำหรับเสื้อผ้า วัสดุตกแต่งภายใน วัสดุสำหรับอุตสาหกรรม ฯลฯ และในเดือนมิถุนายน 1970 เราได้นำ “Leona™” เส้นใยไนลอน 66 ที่รอคอยเข้าสู่ตลาด
กล่าวกันว่าวัตถุดิบสำหรับไนลอน 66 มีต้นทุนการผลิตสูงและนำมาพัฒนาเป็นธุรกิจได้ยากกว่าวัตถุดิบสำหรับไนลอน 6 แต่ Asahi Kasei ประสบความสำเร็จในการผลิตวัตถุดิบต้นทุนต่ำจากอะคริโลไนไตรล์ มอนอเมอร์โดยใช้เยื่อแบบแลกเปลี่ยนประจุไอออน ทำให้นำมาพัฒนาเป็นธุรกิจได้สำเร็จ ซึ่งจะพูดถึงรายละเอียดในภายหลัง
ณ ปัจจุบัน เรามีปริมาณผลิตไนลอนซึ่งรวมทั้งไนลอน 6 และไนลอน 66 ถึง 164 ตันต่อวัน นับเป็นอันดับสองในวงการ

ทั้งนี้ เราได้เริ่มผลิตโพลีเอสเตอร์ในเดือนมิถุนายน 1969 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้า ทำให้เราเป็นผู้ผลิต 3 ใยสังเคราะห์สำคัญทั้งหมด
สำหรับเรื่องนี้ก็เช่นกัน ข้าพเจ้าก็คิดว่าสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเป็นผู้บริหารมี 2 ประการ ได้แก่จังหวะในการตัดสินใจและการเลือกธุรกิจ

  • โรงงานไนล่อนปี 1965 ในโนเบโอกะ มิยาซากิ
  • โรงงาน ALC ปี 1963 ในมัตสึโดะ, ชิบะ
  • 1965 โรงงานยางสังเคราะห์ในคาวาซากิ, คานากาว่า