ประวัติของข้าพเจ้า, Kagayaki Miyazaki23. การจัดวางบุคลากร

ที่ผ่านมาข้าพเจ้าได้ดูแลธุรกิจต่าง ๆ มามากมาย แม้ว่าในทุกธุรกิจจะมีปัญหาหนักให้ฟันฝ่าแต่โชคดีที่กิจการของเราเข้าที่เข้าทางได้ด้วยความพยายามของพนักงานทุกคน ข้าพเจ้าต้องขอบคุณจากใจจริง ๆ
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะดำเนินธุรกิจใด ๆ ก็ตาม อันดับแรกที่ข้าพเจ้ามักจะนึกถึงคือการจะจัดวางบุคคลใดให้เป็นผู้รับผิดชอบธุรกิจนั้น ตั้งแต่อดีตมักจะกล่าวกันว่า “ปัจจัยสำคัญของธุรกิจคือคน” ซึ่งหมายถึงว่าธุรกิจนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับการจัดวางกำลังคน

ตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนตอนที่ลงมือทำธุรกิจใหม่ 3 ประเภท ข้าพเจ้าแต่งตั้งนาย Makoto Muramoto (ปัจจุบันได้เสียชีวิตไปแล้ว) เป็นผู้จัดการฝ่ายกิจการไนลอน แต่งตั้งนาย Yoshihisa Kuroda (อดีตรองประธานบริษัท) ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานเป็นผู้จัดการฝ่ายกิจการวัสดุก่อสร้าง และแต่งตั้งนาย Yuji Kobayashi (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานใหญ่บริษัท Chori Co., Ltd.) ผู้อยู่ในวงการวิจัยมาตลอดเป็นผู้จัดการฝ่ายกิจการยางสังเคราะห์ ทั้ง 3 คนไม่มีประสบการณ์ในงานขายแต่ต่างก็ตอบสนองความคาดหวังของข้าพเจ้าได้อย่างยอดเยี่ยม
นอกจากนี้ ในครั้งที่เข้าสู่วงการธุรกิจที่อยู่อาศัยในปี 1972 ข้าพเจ้าได้แต่งตั้งให้นาย Keita Tsuzuki (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานใหญ่) ซึ่งอายุน้อยและมีกำลังวังชามากที่สุดเป็นผู้จัดการฝ่ายกิจการ และมอบหมายให้นาย Nobuo Yamaguchi (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัท) ผู้อยู่ในวงการธุรการและเลขานุการมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการต่อจากนั้น ซึ่งทั้งสองต่างก็ได้ฟูมฟักธุรกิจที่อยู่อาศัยจนเป็นเสาหลักที่สำคัญของ Asahi Kasei

ข้าพเจ้ามักจะจัดวางบุคลากรในสายงานที่ต่างไปจากความเชี่ยวชาญเช่นนี้ทำให้สื่อมวลชนมักจะเขียนบทความว่าเป็น “งานบุคคลที่ทำให้ประหลาดใจ” จริงอยู่ที่หากมองจากภายนอกแล้วอาจจะเห็นเป็นเช่นนั้น
แต่หากเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานหรือด้านเทคนิคที่ยอดเยี่ยมอย่างแท้จริงจะต้องรับผิดชอบการขายได้ด้วยเช่นกัน และหากเป็นพนักงานขายที่มากความสามารถก็ย่อมต้องรับผิดชอบงานบริหารได้เช่นเดียวกัน
สรุปง่าย ๆ ว่าขึ้นอยู่กับศักยภาพของบุคคลนั้น ๆ แน่นอนว่ามีคนที่ไม่เหมาะสมด้วย ดังนั้นข้าพเจ้าจะคิดพิจารณาอย่างเพียงพอให้พวกเขาได้ใช้ความสามารถในสาขาที่เชี่ยวชาญของแต่ละคน ซึ่งการมองและแยกแยะดังกล่าวเป็นบทบาทที่สำคัญทีผู้นำจะต้องรับผิดชอบ

สักวันหนึ่งคงจะถึงเวลาเปลี่ยนตัวประธานบริษัทซึ่งเงื่อนไขอันดับแรกของผู้รับช่วงต่อคือความใจกว้างและความซื่อสัตย์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แน่นอนว่าผู้นำจะต้องมีคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น สุขภาพแข็งแรง กำลังวังชา ประสบการณ์ หรือความรับผิดชอบ ฯลฯ แต่ท้ายที่สุดแล้วข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดรวมอยู่ที่ศักยภาพที่เปิดกว้างนั่นเอง
เพราะว่าตำแหน่งประธานบริษัทจำเป็นต้องใช้การพิจารณาและการตัดสินใจอย่างครบวงจรที่สูงกว่ารองประธานบริษัทและตำแหน่งที่ต่ำกว่าถึงหลายเท่าตัว

พร้อมกันนั้น สิ่งสำคัญในการกำหนดผู้นำที่จะรับช่วงต่อตำแหน่งคือการคำนึงให้ทั้งบริษัทมีทัศนคติที่สามารถรวมพลังกันเดินหน้าต่อไปได้ แน่นอนว่าสภาพการณ์ในแต่ละบริษัทอาจแตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ลำพังประธานบริษัทตัวคนเดียวไม่สามารถบริหารบริษัทได้ สรุปง่าย ๆ ว่าการจัดวางบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญ
ข้าพเจ้าคิดมาตลอดว่าหากเปรียบ “ผู้นำ” เป็นแพทย์ ผู้นั้นจะต้องมีพร้อมทั้งคุณสมบัติของการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยและคุณสมบัติของการเป็นแพทย์ประกอบการในหมู่บ้านชนบท กล่าวคือ การมีพร้อมทั้งความรู้เฉพาะทางและการศึกษาอย่างลึกซึ้งเช่นเดียวกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยควบคู่กับความสามารถในการวินิจฉัยในทางปฏิบัติจริงซึ่งสามารถแยกแยะผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกับแพทย์ประกอบการเป็นสิ่งสำคัญ

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่จะลืมไม่ได้เลยคือจิตวิญญาณที่ “สนุกกับความยากลำบาก” ข้าพเจ้านำคำนี้มาใส่กรอบประดับไว้ในห้องทำงานของประธานบริษัท เรียกได้ว่าเป็นคติประจำตัวของข้าพเจ้า
ธุรกิจย่อมมีความยากลำบากตามมาเสมอ ข้าพเจ้าไม่เคยดำเนินธุรกิจที่เข้าที่เข้าทางโดยไม่ประสบความยากลำบาก แต่ยิ่งยากลำบากเท่าไรเมื่อฝ่าฟันจนสำเร็จจะยิ่งรู้สึกดีใจเท่านั้น แน่นอนว่าเมื่อถึงเวลานั้นก็จะมีความยากลำบากประเภทอื่นเกิดขึ้น ชีวิตมนุษย์ก็ประกอบด้วยความยากลำบากอันไม่จบสิ้นเช่นนี้
เรื่องนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้นำเท่านั้นแต่เป็นปัญหาที่เกิดกับทุกคนในการทำงาน ข้าพเจ้าเพียงต้องการบอกว่าผู้นำยิ่งต้องมีจิตวิญญาณที่แกร่งกล้าขึ้นอีกในระดับหนึ่ง
ในความเป็นจริง ยิ่งเกิดปัญหาที่ยากลำบากเท่าไรข้าพเจ้ายิ่งรู้สึกมีไฟที่จะแก้ปัญหานั้นให้ได้ ความยากลำบากกับความทรมานใจเป็นคนละอย่างกัน กว่าข้าพเจ้าจะก้าวขึ้นถึงขั้นนี้ได้ต้องใช้เวลาถึงราว ๆ 10 ปี

มนุษย์ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เราควรจะใช้สมองคิดเรื่องอะไรอยู่ตลอดเวลาแทนที่จะหลง ๆ ลืม ๆ และสนุกอยู่กับชีวิตที่เหลืออยู่ ข้าพเจ้าตั้งปณิธานให้กับตนเองเช่นนี้และจากนี้ไปก็ตั้งใจที่จะเรียนรู้อย่างไม่หยุดหย่อน

  • การประดิษฐ์ตัวอักษรญี่ปุ่นที่เขียนเกี่ยวกับคําขวัญโปรดของมิยาซากิ
    "สนุกกับความท้าทาย" ด้วยตัวเอง