ประวัติของข้าพเจ้า, Kagayaki Miyazaki5. ข้าวใหม่ปลามัน

ย้อนเวลากลับไปอีกครั้ง สมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยข้าพเจ้าอาศัยอยู่ที่หอ Kaoru Inoue Scholarship Foundation ย่าน Otsuka เขต Bunkyo มีครอบครัวของอาจารย์สอนตีกลองสึซึมิ (กลองญี่ปุ่นขนาดเล็ก) ซึ่งภายหลังเป็นศิลปินแห่งชาติอาศัยอยู่ใกล้ ๆ หอพักของข้าพเจ้าซึ่งพบหน้ากันเป็นบางครั้งเวลาไปกลับจากมหาวิทยาลัย ช่วงแรก ๆ แค่พอทักทายกันแต่เมื่อค่อย ๆ สนิทกันเรื่อย ๆ ข้าพเจ้าก็เคยเข้าไปพูดคุยถึงในบ้าน
เมื่อข้าพเจ้าหาที่เข้าทำงานได้ ข้าพเจ้าไปบอกเขาว่าจะย้ายไปประจำการที่ Osaka ภรรยาของอาจารย์ได้เสนอว่า “ลองดูตัวกับหลานของตนดูไหม” ข้าพเจ้าเองก็คิดว่าถ้าเริ่มทำงานแล้วอยากจะมีครอบครัวเป็นฝั่งเป็นฝาโดยเร็วจึงขอให้แนะนำให้ในทันทีและข้าพเจ้าก็ถูกใจทันทีที่เห็นเพราะเป็นคนที่มีบุคลิกลักษณะนิสัยดีและดูมีสุขภาพดี

  • รูปถ่ายที่ระลึกพิธีแต่งงาน

Sumiko เพิ่งจบจากโรงเรียน Oin Junior and Senior High School แต่เราสัญญาที่จะแต่งงานกันในทันที แต่กว่าจะจัดพิธีแต่งงานจริง ๆ ใช้เวลาถึง 2 ปีเนื่องจากพี่ชายของข้าพเจ้าป่วยเป็นโรคร้าย ข้าพเจ้าจึงต้องส่งเงินเดือนส่วนหนึ่งไปช่วยในการรักษา ระหว่างนั้นเราส่งจดหมายหากันตลอด
พิธีแต่งงานจัดขึ้นที่ Gajoen ใน Meguro เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 1936 ข้าพเจ้าอายุ 27 ปี ส่วนภรรยาอายุ 20 ปี บ้านใหม่ของเราสองคนเป็นบ้านเช่าใน Mukogawa (เมือง Amagasaki จังหวัด Hyogo) ค่าเช่าบ้านเดือนละ 25 เยน สมัยนั้นเป็นยุคที่หากมีเงินประมาณ 20 เยนก็เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตต่อเดือน เงินเดือน 100 เยนจึงสามารถใช้ดำรงชีวิตได้อย่างเพียงพอ
ข้าพเจ้าชอบขนมมันจู (ขนมทำจากแป้งไส้ถั่วหวาน) ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กและมักจะซื้อกลับบ้านสมัยที่แต่งงานใหม่ ๆ ข้าพเจ้ามักจะซื้อขนมมันจูลูกละ 2 เซนที่ร้านขนมใกล้ ๆ สถานี Mukogawa 20 ลูก และมักจะหิวก่อนจะกลับถึงบ้านจึงซื้อขนมอันปัง (ขนมปังไส้ถั่วแดง) ลูกละ 2 เซนที่สถานีระหว่างทางและยืนรับประทานที่นั่น

สมัยที่แต่งงานใหม่ ๆ ข้าพเจ้าก็กลับดึกเพราะต้องคอยปฏิบัติหน้าที่รับใช้ในงานเลี้ยงที่คุณ Hori กรรมการผู้จัดการเลี้ยงรับรองลูกค้า หน้าที่ของข้าพเจ้าคือปรึกษาเรื่องที่นั่ง อาหาร การเลือกเกอิชา (ผู้หญิงที่มีอาชีพให้ความบันเทิงแก่แขกด้วยการร้องเพลงและเต้นรำในงานเลี้ยง ฯลฯ) ฯลฯ กับผู้จัดการร้านอาหารล่วงหน้า และเมื่อเริ่มงานเลี้ยงข้าพเจ้าจะนั่งในตำแหน่งสำหรับผู้ด้อยที่สุดและดื่มเหล้าสาเกที่ลูกค้ารินให้เป็นการตอบแทนแทนคุณ Hori ที่ดื่มสุราไม่ได้ และเมื่อถึงเวลาสมควรจะย้ายไปยังห้องแคบ ๆ ใกล้กับประตูทางออก
บางครั้งเกอิชาจะเห็นใจข้าพเจ้าและนำเหล้าสาเกมาให้บ้างแต่เนื่องจากข้าพเจ้ายังมีงานต้องทำจนกว่างานเลี้ยงจะสิ้นสุดจึงไม่สามารถดื่มมากกว่านั้นได้ บางครั้งคุณนายเจ้าของร้านจะเข้ามาเตือนว่า “คุณ Miyazaki อย่าดื่มเหล้านะ”
ในไม่ช้าจะได้ยินเสียงเรียกว่า “คุณลูกค้าจะกลับแล้ว” ข้าพเจ้าจะรีบไปที่ประตูทางออก หยิบรองเท้าของลูกค้ามาเรียง โบกรถและยืนส่งทุกคน ข้าพเจ้าต้องใช้สติเป็นอย่างมากในการเรียกรถสำหรับลูกค้าโดยระวังไม่ให้มีอะไรผิดพลาด

ว่าไปแล้วเคยเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น ครั้งหนึ่งเคยเชิญทนายความที่ปรึกษาของบริษัทมาที่ภัตตาคารในเขต Kitashinchi ใน Osaka แต่งานเลี้ยงเลิกแล้วรถที่จองไว้ก็ยังไม่มา ข้าพเจ้าจึงเรียกคุณนายเจ้าของร้านมาต่อว่าว่าเป็นความผิดของทางร้าน แต่เมื่อข้าพเจ้าไปที่บริษัทในวันรุ่งขึ้น ผู้จัดการแผนกตะคอกใส่ข้าพเจ้าว่า “ฉันไล่แกออก”
ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าทำไมตนเองจึงถูกดุแต่ดูเหมือนว่าคุณนายเจ้าของร้านที่ข้าพเจ้าต่อว่าเมื่อคืนก่อนเป็นผู้เกี่ยวข้องกับประธานบริษัท ผู้จัดการแผนกจึงเอาใจประธานและสั่งให้ข้าพเจ้า “ไปขอโทษคุณนายเจ้าของร้าน” แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าตนเองทำอะไรผิดจึงตอกกลับกว่า “ไม่จำเป็นต้องขอโทษ”
เรื่องนี้ไปเข้าถึงหูคุณ Hori กรรมการผู้จัดการ ท่านจึงถามว่าเกิดอะไรขึ้น ข้าพเจ้าก็ได้อธิบายเช่นเดียวกัน คุณ Hori ฟังคำอธิบายอย่างเงียบ ๆ และบอกว่า “ตนจะไปคุยกับท่านประธานบริษัทเอง” มาทราบภายหลังว่าท่านประธานก็หัวเราะและบอกว่า “เป็นความผิดของคุณนายเจ้าของร้าน ไม่แปลกที่ Miyazaki จะต่อว่า”
หลังเสร็จสิ้นงานเลี้ยง ส่งลูกค้าและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญกลับหมดแล้ว ข้าพเจ้ามักจะไปที่บาร์ที่ไปเป็นประจำเพียงลำพังและดื่มเบียร์ขวดละ 50 เซน เบียร์ของร้านนี้อร่อยกว่าเหล้าสาเกราคาแพงของภัตตาคารมาก ขากลับข้าพเจ้ามักจะซื้อซูชิม้วนแตงกวาจากร้านซูชิใกล้กับบาร์กลับไปรับประทานกับภรรยาบ่อย ๆ ไม่ว่าข้าพเจ้าจะกลับดึกเพียงใดภรรยาของข้าพเจ้าก็จะแขวนท้องรอจนกว่าข้าพเจ้าจะกลับมา

สมัยนั้นไม่มีแผนกเลขานุการ ข้าพเจ้าจึงรับงานสายเลขานุการทั้งหมดซึ่งหนึ่งในงานนั้นคือการจองตั๋ว อาจจะฟังดูเป็นงานง่าย ๆ แต่จริง ๆ แล้วเป็นงานที่ยากทีเดียว สมัยนั้นกรรมการบริษัทมักจะเดินทางไป Tokyo บ่อย ๆ ซึ่งหากเป็นช่วงกลางวันจะเดินทางหลังการประชุมและหากเป็นช่วงเย็นจะเดินทางหลังงานเลี้ยงรับรอง แต่การประชุมและงานเลี้ยงรับรองมักจะไม่เลิกตามกำหนดการ
ข้าพเจ้าจะซื้อตั๋วตามเวลาที่ถูกระบุเผื่อไว้ก่อนแต่บ่อยครั้งที่การประชุมหรืองานเลี้ยงยืดเยื้อจะมีคนมาสั่งให้ข้าพเจ้า “เลื่อนเวลาขบวนรถออกไปเที่ยวหนึ่ง” เอาตอนใกล้เวลาที่จะต้องขึ้นรถ แต่หากไปเปลี่ยนตั๋วในเวลานั้นอาจจะไม่สามารถจองที่นั่งได้ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงสังเกตการณ์ความคืบหน้าของการประชุมหรืองานเลี้ยงรับรองแล้วไปเปลี่ยนตั๋วล่วงหน้า
สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครสอนให้แต่เป็นการใช้สติปัญญาโดยเอาใจเขามาใส่ใจเรา งานสายเลขานุการต้องใช้ “ตรรกะเหนือเหตุผล” ซึ่งเป็นการฝึกวิชาที่ดีสำหรับข้าพเจ้า