ประวัติของข้าพเจ้า, Kagayaki Miyazaki10. การก้าวเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์อะคริลิก

ตั้งแต่ระยะที่เรยอนตกต่ำอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน Asahi Kasei หาโอกาสก้าวเข้าสู่วงการใยสังเคราะห์ ซึ่งบริษัท Toyo Rayon (Toray ในปัจจุบัน) ได้ก่อตั้งบริษัทผลิตไนลอนในฤดูใบไม้ร่วง ปี 1952 ส่วนสาขาโพลีเอสเตอร์ Toyo Rayon และ Teijin ได้นำเข้าเทคโนโลยีจากประเทศอังกฤษเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วงการเส้นใยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่จากการผลิตที่เน้นเส้นใยธรรมชาติและเส้นใยรีไซเคิลดังที่ผ่านมาเป็นใยสังเคราะห์
Asahi Kasei ก้าวเข้าสู่ตลาดใยสังเคราะห์ล่าช้ากว่ารายอื่นจึงจำเป็นต้องรีบ ปัญหาอยู่ที่ว่าจะเข้าสู่ตลาดของเส้นใยประเภทใด ขณะนั้นไนลอนมีการขยายตัวอย่างแรงจนฉุดไม่อยู่
ดังนั้นใคร ๆ ก็คงคิดว่าควรจะเข้าสู่ตลาดไนลอน แต่ Asahi Kasei เลือกที่จะเข้าสู่ตลาดอะคริลิกเนื่องจากเราทำการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเส้นใยนี้ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกและถึงจุดที่ลงตัวในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในปี 1955 และแล้ว ในเดือนกรกฎาคม 1957 เราจึงได้สร้างโรงงานทดลองที่มีกำลังผลิต 1 ตันต่อวันขึ้นที่ Nobeoka

ระยะนั้น บริษัท Toyobo และ MITSUBISHI RAYON ฯลฯ ก็ได้นำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศและเดินหน้าจัดตั้งบริษัทผลิตภัณฑ์อะคริลิกเช่นเดียวกัน เราจึงไม่อาจประมาทได้ ข้าพเจ้าได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการอาวุโสในเดือนเมษายน 1958 จึงได้ปรึกษากับประธานบริษัทและเริ่มหาทำเลสำหรับโรงงาน และในเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกันเราได้จัดเตรียมที่ดินขนาดประมาณ 760,000 ตารางเมตร ในเมือง Fuji จังหวัด Shizuoka
เราได้เริ่มการก่อสร้างระยะที่หนึ่งในทันที และในเดือนพฤษภาคม 1959 โรงงานที่มีกำลังผลิต 10 ตันต่อวันได้เสร็จสมบูรณ์โดยใช้งบประมาณ 5,600 ล้านเยน
นี่เป็นการกำเนิดเส้นใยอะคริลิก “Cashmilon™” ซึ่งในระยะนั้นรายการทีวี “Star Sen-ichi ya” ซึ่งเริ่มต้นด้วยโฆษณาที่มีสโลแกนว่า “เนื้อสัมผัสดี สัมผัสนี้ สัมผัสแคชเมียร์” ได้แพร่ภาพไปทั่วประเทศ
แต่เบื้องหลังของเพลงน่ารักสดใสในโฆษณา ธุรกิจ Cashmilon เป็นไปด้วยความยากลำบากกว่าที่คาดไว้เนื่องจากการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาแตกต่างกันเรื่อยไปจึงส่งผลทำให้ผู้ใช้งานเกิดความสับสน

Cashmilon ใช้อะคริโลไนไตรล์ มอนอเมอร์ (Acrylonitrile monomer) เป็นวัตถุดิบหลักซึ่งใช้กระบวนการเปลี่ยนแปลงเป็นสารโพลิเมอร์ในการสร้างขึ้น แต่เนื่องจากกระบวนการผลิตยังไม่มั่นคง เพียงแค่เปลี่ยนกระบวนการเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้ละอองด้ายฟุ้งไปทั่วโรงงาน เรื่องการย้อมสีก็เช่นกัน มีบางครั้งที่ผลิตภัณฑ์ที่ย้อมเมื่อวานกับวันนี้ออกมาเป็นคนละสีกัน
แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ขายไม่ออก เหลือสินค้าคงคลังกองเป็นภูเขา เงินทุน 4,760 ล้านเยนแต่เกิดเป็นสินค้าคงคลังมีตำหนิถึง 6,500 ล้านเยน เนื่องจากเราสร้างโรงงาน Fuji ขนาดใหญ่ในรวดเดียวทำให้หนักทั้งอัตราดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา เป็นเหตุให้ผลประกอบการตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ในการปิดบัญชีประจำเดือนมีนาคม 1961 (ปิดบัญชีทุกครึ่งปี) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุด กำไรสุทธิตกลงมาถึง 310 ล้านเยน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของระยะก่อนหน้า

  • Miyazaki ตรวจดูงานในโรงงาน Fuji

เราจำเป็นต้องลดเงินปันผลจาก 12% เป็น 4% พร้อมกันนั้นเราออกหุ้นฟรี 80% โดยพยายามไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ถือหุ้น กำไรสุทธิของบริษัท Toray ในระยะเดียวกันสูงกว่า 5 พันล้านเยน สร้างความห่างชั้นกับบริษัทเราอย่างชัดเจน
ท่ามกลางภาวะดังกล่าว คุณ Takenobu Kataoka ประธานบริษัทได้ล้มป่วยด้วยความเหน็ดเหนื่อยทางใจและอยู่ในสภาพที่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป ดังนั้นข้าพเจ้าจึงรับช่วงต่อและเข้าดำรงตำแหน่งประธานบริษัทในเดือนกรกฎาคม 1961 ขณะที่มีอายุ 52 ปี

ข้าพเจ้าดำเนินการลดจำนวนพนักงานฝ่ายบริหารจัดการลง 20% และย้ายพนักงานเหล่านั้นไปปฏิบัติงานขาย Cashmilon เพื่อมุ่งที่จะเสริมกำลังด้านการขายในทันที
จากนั้นข้าพเจ้าเปิดสมัครใจให้ลาออกจำนวน 1,000 คน โดยกลุ่มเป้าหมายคือแม่บ้านที่ทำงานทั้งสามีภรรยา พวกเขาฝากเงินออกจากตำแหน่งไว้ในรูปแบบเงินฝากในบริษัทโดยบอกว่า “ไว้รอให้ผลประกอบการดีขึ้นแล้วค่อยมารับ” คงไม่ต้องบอกเลยว่านั่นเป็นการช่วยเหลือบริษัทเป็นอย่างมากในการจัดสรรเงินทุน ข้าพเจ้าคิดว่านี่จะช่วยให้บริษัทฟื้นตัวขึ้นมาได้และไม่เคยลืมเจตนาดีของพวกเขาจนถึงทุกวันนี้ ช่วงนี้เองคือช่วงที่จ่ายโบนัสส่วนหนึ่งเป็นผ้าห่ม Cashmilon และผงปรุงรส “Asahi-aji”

ลำดับถัดไป ข้าพเจ้าแต่งตั้งนาย Koichi Kosho (อดีตกรรมการบริหาร) เป็นผู้จัดการฝ่ายกิจการ Cashmilon ในอดีตสมัยที่ผลิตภัณฑ์เบมเบิร์กไม่สามารถสร้างความแตกต่างจากเรยอนซึ่งเป็นเส้นใยรีไซเคิลเช่นเดียวกันทำให้ขายไม่ดี เขาเป็นผู้ที่นำแกนการดำเนินงานใหม่ ๆ ที่หลากหลาย เช่น ระบบที่บริษัทรับผิดชอบการตลาดให้หรือระบบจ้างทอและแปรรูป ฯลฯ มาใช้ ช่วยให้เริ่มจำหน่ายเบมเบิร์กได้อย่างมั่นคง
ผลจากการตลาดที่นาย Kosho ลองทำดูหลาย ๆ รูปแบบ ทำให้เปลี่ยนผลิตภัณฑ์อุปสงค์สำหรับ Cashmilon จากสิ่งทอเป็นผ้านิตติ้ง (ผ้าถัก) พร้อมกับทุ่มเทให้กับการสร้างผู้ประกอบการผ้าถักนิตติ้ง นี่คือวิธีการที่เราบุกเบิกตลาดใหม่สำหรับ Cashmilon แน่นอนว่าเราเน้นย้ำความมั่นคงของคุณภาพต่อทีมเทคนิคโดยสั่งการให้ใช้ “กฎ 80 คะแนน”
ความเพียรพยายามของนาย Kosho เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ช่วยให้เกิดความนิยมในผ้าถักนิตติ้งในเวลาถัดมา และ Cashmilon ได้เติบโตเป็นเสาหลักของ Asahi Kasei การที่บริษัท ANIC จากอิตาลีเรียกร้องให้เราถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ได้กลายเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ความเยี่ยมยอดของ Cashmilon เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
นาย Kosho ผู้มีผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับ Cashmilon ได้เสียชีวิตไปขณะที่ยังมีอายุเพียง 48 ปี ในเดือนมิถุนายน 1964 ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

  • Cashmilon™ฤดูใบไม้ร่วงเตียงอะคริลิคผ้าฝ้ายคลอรีน