ประวัติของข้าพเจ้า, Kagayaki Miyazaki16. การเจรจาว่าด้วยเรื่องเส้นใยระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกา

สิงหาคม 1968 ข้าพเจ้าได้รับสำเนาโทรเลขฉบับหนึ่ง เป็นโทรเลขจากนักวิ่งเต้นที่ Asahi Kasei จ้างอยู่ที่สหรัฐอเมริกา มีข้อความดังนี้
“ในโอกาสที่ได้รับเลือกตั้ง จะรีบหารือกับประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเรื่องปัญหาการจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นใยทุกประเภทรวมถึงขนสัตว์และใยสังเคราะห์” ผู้ส่งโทรเลขนี้คือ Nixon ผู้สมัครลงเลือกตั้งประธานาธิบดีพรรครีพับลิกัน ส่งถึง Senator James Strom Thurmond วุฒิสมาชิกผู้มุ่งที่จะกำหนดให้อุตสาหกรรมเส้นใยในตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาเป็นฐานของประเทศ
ขณะนั้นข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งประธาน Japan Chemical Fibers Association เมื่อได้อ่านข้อความจากโทรเลขที่มาจากความต้องการคะแนนเสียงจากภาคอุตสาหกรรมเส้นใยก็หยั่งรู้ในทันทีว่า “หาก Nixon ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจะต้องกลายเป็นเรื่องใหญ่”
ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ เมื่อ Nixon เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมกราคม 1969 เขาได้เริ่มปฏิบัติการในทันที อันดับแรกเขาได้ส่งนาย Maurice H. Stans เลขาธิการพาณิชย์ไปยังญี่ปุ่นและยุโรปเพื่อเจรจาเกี่ยวกับปัญหาการจำกัดการนำเข้าเส้นใย เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการเจรจาคือการจำกัดการนำเข้าขนสัตว์และใยสังเคราะห์จากประเทศญี่ปุ่น

การเจรจาระหว่างนาย Maurice H. Stans เลขาธิการพาณิชย์ที่เดินทางมาเยือนญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม และนาย Kiichi Aichi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกับนาย Masayoshi Ohira รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม ยุติลงด้วยความล้มเหลวเนื่องจากมีการลงมติในรัฐสภาต่อต้านการจำกัดการนำเข้า
แน่นอนว่าสหรัฐอเมริกาไม่ใช่ประเทศที่จะเลิกล้มความตั้งใจได้ง่าย ๆ และก็เป็นไปตามที่คาดไว้ ข้าพเจ้าได้ข่าวว่าจะมีการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับปัญหาเส้นใยในการประชุมผู้นำญี่ปุ่น-สหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่มีการตัดสินให้อเมริกาส่งคืนเกาะโอกินาวะแก่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งข้าพเจ้าได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อเฝ้าดูความเป็นไปของการเจรจา

ในแถลงการณ์ร่วมระหว่างญี่ปุ่นและอเมริกาไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องเส้นใยอย่างที่ได้กังวล ข้าพเจ้าจึงรู้สึกโล่งใจ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ซึ่งจัดขึ้นที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสหรัฐอเมริกา กรุง Washington DC หลังการประชุมผู้นำ คุณ Aichi อุตส่าห์บอกข้าพเจ้าถึง 2 ครั้งว่า “ไม่มีการพูดถึงเรื่องเส้นใยนะครับคุณ Miyazaki”
แต่ตามที่ข้าพเจ้าสังเกตในงานเลี้ยงสังสรรค์เห็นว่านายกรัฐมนตรี Eisaku Sato มีสีหน้าไม่ดีเลยทั้งที่ประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในการนำเกาะโอกินาวะกลับคืนมาได้แต่กลับดูไม่ร่าเริง ข้าพเจ้าจึงรู้สึกว่ามีอะไรคาใจอยู่
แล้วก็เป็นอย่างที่คิดจริง ๆ สื่อมวลชนได้ตีแผ่เรื่อง “สมมติฐานข้อตกลงลับกับอเมริกา” กล่าวว่านายก Sato ขายเส้นด้าย (เส้นใย) แลกกับเชือก (เกาะโอกินาวะ: “นาวะ” แปลว่า “เชือก”) ตอนแรกข้าพเจ้าก็คิดว่า “เป็นไปไม่ได้...” แต่ก็ยากที่จะคิดว่าจะไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้เลย

ตามที่ Nixon แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเส้นใย ณ ที่ประชุมผู้นำ ฝั่งอเมริกาได้เสนอร่างจำกัดการนำเข้าอันเข้มงวดถึง 2 ครั้ง ข้าพเจ้าได้วิ่งเต้นเพื่อยับยั้งการจำกัดดังกล่าว ทั้งก่อตั้งสมาพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศญี่ปุ่น กระตุ้นการทำงานของสมาชิกสภา หารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งในกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม ฯลฯ
และแล้วในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้ล้มป่วยด้วยความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานอย่างหักโหมในฤดูร้อนปี 1970
แต่ระหว่างการเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลาเกือบ 1 เดือนสถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้นเลย จากนั้นวันที่ 24 ตุลาคมของปีเดียวกันหลังจากที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลได้ไม่นาน ได้มีการจัดประชุมผู้นำระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ณ กรุง Washington DC ซึ่งในครั้งนี้ปัญหาเส้นใยเป็นวาระการประชุมอย่างเป็นทางการ ผู้นำทั้งสองประเทศตกลงที่จะเปิดการเจรจาระหว่างรัฐบาลอีกครั้ง

หลังจากที่นายกรัฐมนตรี Sato เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น ท่านได้ประชุมกับพวกเรา เพียงแต่กล่าวแค่ว่า “ผมสนิทกับ Nixon” แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ข้าพเจ้ารู้สึกผิดหวังเพราะคาดหวังว่าจะได้ฟังข้อเท็จจริง
เราแถลงการณ์ต่อต้านการเปิดการเจรจาอีกครั้งแต่ได้มีการเปิดการเจรจาระหว่างญี่ปุ่นและอเมริกาโดยนาย Nobuhiko Ushiba เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสหรัฐอเมริกา และนาย Peter M. Flanigan ผู้ช่วยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา การเจรจานี้ดำเนินต่อเนื่องถึง 13 ครั้งแต่ในที่สุดก็ได้ยุติลงโดยไม่มีอะไรคืบหน้า
วันที่ 16 พฤศจิกายน พวกเราได้ระดมพลผู้ประกอบการเส้นใยจากทั่วประเทศจัดการชุมนุมครั้งใหญ่ขึ้นพร้อมกับเดินขบวนคัดค้าน ข้าพเจ้าเองก็ได้ใช้ผ้าพันศีรษะเดินนำขบวน
แต่ในช่วงนั้นฝ่ายรัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคเสรีประชาธิปไตยได้ส่งคำเรียกร้องอย่างไม่เป็นทางการมายังพวกเราหลายครั้ง อ้างว่า “ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้จะเกิดรอยร้าวต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและอเมริกา ดังนั้นจึงขอให้ทุกคนพยายามจำกัดการผลิตโดยสมัครใจ”

ข้าพเจ้ามอบหมายให้นักวิ่งเต้นสำรวจสภาพการณ์ภายในสหรัฐอเมริกา ผลจากการสำรวจพบว่าหากเราตัดสินใจจำกัดการผลิตโดยสมัครใจทางฝ่ายอเมริกาก็จะเพิกถอนร่างกฎหมายจำกัดการนำเข้าสำหรับแต่ละประเภทเช่นกัน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าหากมาถึงขั้นนี้แล้วก็ไม่อาจเลี่ยงการจำกัดการผลิตโดยสมัครใจได้แล้ว จึงได้เริ่มดำเนินการเพื่อบทสรุปดังกล่าว
ทางฝ่ายอเมริกาได้ตอบรับความเคลื่อนไหวของเรา โดยนาย Wilbur D. Mills ประธานคณะกรรมาธิการสรรพากรแห่งสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า “เตรียมพร้อมรับการจำกัดการผลิตโดยสมัครใจของญี่ปุ่น” ทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและอเมริกาต่างมีท่าทีที่จะยุติปัญหานี้โดยการจำกัดการผลิตโดยสมัครใจ
ข้าพเจ้าจัดทำร่างโดยปรึกษาคุณ Toyosaburo Taniguchi ประธาน Japan Textile Federation (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ บริษัท Toyobo) และคณะ เราได้เสนอให้นาย Wilbur D. Mills ประธานคณะกรรมาธิการสรรพากรอ่านก่อนเป็นการล่วงหน้าและได้ระบุเจตนาของฝ่ายอเมริกาอย่างเพียงพอก่อนจะประกาศร่างการจำกัดการผลิตโดยสมัครใจในวันที่ 8 มีนาคม 1971 รัฐบาลก็ได้ประกาศยุติการเจรจาระหว่างรัฐบาลในนามเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและกำหนดมาตรการช่วยเหลือมูลค่ารวม 48,900 ล้านเยน ข้าพเจ้าคิดว่าเท่านี้การเจรจาเรื่องเส้นใยระหว่างญี่ปุ่นและอเมริกาจะได้สิ้นสุดลงเสียที

แต่ทว่า นี่ยังมิใช่การปิดฉากปัญหานี้
วันที่ 11 มีนาคม 1971 ประธานาธิบดี Nixon ได้รับการกดดันจากวงการเส้นใยในสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่พอใจต่อข้อเสนอจากเราและได้แถลงการณ์ว่า “ไม่ยอมรับการจำกัดการผลิตโดยสมัครใจของญี่ปุ่น” และได้ส่งนาย David M. Kennedy ทูตพิเศษมายังประเทศญี่ปุ่นในเดือนเมษายน
หลังจากนั้นนาย Kennedy ได้เดินทางมายังประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมและเรียกร้องให้ทำสัญญาการเจรจาระหว่างรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย ต่อมาเมื่อถึงสิ้นเดือนกันยายน นาย Anthony J. Jurich ผู้ช่วยพิเศษประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้มาเยือนญี่ปุ่นและแจ้งต่อนาย Kakuei Tanaka รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมว่า “หากไม่ตอบรับข้อตกลงระหว่างรัฐบาลของสองประเทศ สหรัฐอเมริกาจะดำเนินการจำกัดการนำเข้าโดยฝ่ายเดียวตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมเป็นต้นไป” เรียกได้ว่าเป็นการยื่น “คำขาดครั้งสุดท้าย”
มาถึงขั้นนี้ นายกรัฐมนตรี Tanaka ได้เลิกล้มความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาด้วยการจำกัดการผลิตโดยสมัครใจและได้ประทับตราลงในข้อตกลงระหว่างรัฐบาลของสองประเทศในวันที่ 15 ตุลาคม

การดำเนินการนี้เป็นเพียงเบื้องหน้าซึ่งมีความเป็นจริงซ่อนอยู่เบื้องหลัง กล่าวคือมีบทดำเนินเรื่องที่ได้ร่างเอาไว้ซ่อนอยู่ ซึ่งเรื่องนี้เขียนไว้อย่างละเอียดในหนังสือที่ตีพิมพ์เมื่อ 6 ปีที่แล้วโดยหน่วยงานสำรวจที่เชื่อถือได้ในอเมริกาและเรื่องที่ได้ฟังโดยตรงจากปากนาย Jurich ภายหลังก็เป็นหลักฐานรับรองข้อเท็จจริงดังกล่าว
เนื้อหาเป็นการจำกัดที่เข้มงวดระบุว่าเป็นรูปแบบการจำกัดแต่ละรายเป็นระยะเวลา 3 ปี อัตราการเติบโตของใยสังเคราะห์ 5% ขนสัตว์ 1%
การเจรจาว่าด้วยเรื่องเส้นใยระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาที่เราได้ต่อสู้กันมากว่า 3 ปี สิ้นสุดลงด้วยการแก้ปัญหาในรูปแบบที่เราไม่เต็มใจเช่นนี้ ข้าพเจ้าไม่อาจที่จะเลี่ยงความรู้สึกว่างเปล่าที่เกิดขึ้นได้แต่เมื่อมองย้อนกลับไปจากตอนนี้ก็คิดว่ามีข้อดีในทางปฏิบัติหลายอย่างที่เราได้มา

อย่างหนึ่งคือการเบิกเงินทุนจากรัฐบาลกว่า 1 แสน 8 หมื่นล้านเยน นอกจากเงิน 48,900 ล้านเยนซึ่งเป็นค่าซื้อเครื่องทอและอื่น ๆ แล้ว เรายังสามารถกู้เงินทุนดอกเบี้ยต่ำกว่า 1 แสน 3 หมื่นล้านเยน ช่วยให้วงการเส้นใยอยู่ต่อได้โดยไม่ล้มละลาย
ในครั้งที่เปิดประชุมเพื่อเร่งบทสรุประหว่างนาย Ushiba และนาย Flanigan มีการเสนอแนะให้ข้าพเจ้าเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาด้วย หากข้าพเจ้าไปในตอนนั้นอาจจะแก้ปัญหาได้ ณ เวลานั้น แต่หากเป็นเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการเห็นชอบจากทั้งวงการ คงไม่ต้องพูดถึงเงินทุน 1 แสน 8 หมื่นล้านเยนแต่คงจะเบิกเงินจากรัฐไม่ได้เลย

ผลสัมฤทธิ์อีกประการหนึ่งคือความพยายามถึง 3 ปีของพวกเราช่วยป้องกันการถาโถมเข้ามาของผลิตภัณฑ์เส้นใยราคาถูกจากเกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง
กล่าวคือ การเจรจาว่าด้วยเรื่องเส้นใยระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาดำเนินไปอย่างยืดเยื้อ ช่วยยืดเวลาการทำสัญญาตามข้อตกลงระหว่างภูมิภาคเหล่านั้นกับสหรัฐอเมริกาเช่นกัน ระหว่างนั้น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกงเพิ่มปริมาณส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้ถึง 3 เท่า (ญี่ปุ่น 2 เท่า)
สมมติว่าเราลงนามในข้อตกลงเร็วกว่านี้ เราคงไม่สามารถรักษามาตรฐานในระดับนี้ได้
จากนั้นมาไม่ค่อยมีใครหยิบยกประเด็นนี้มาพูดถึงเท่าไรนักแต่เป็นจุดที่สำคัญมาก เมื่อคิดถึงมูลค่าเงินชดเชยหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านแล้ว แม้การเจรจาว่าด้วยเรื่องเส้นใยระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาจะต้องสิ้นสุดลงอย่างน่าอับอาย แต่วงการเส้นใยในญี่ปุ่นได้ผลประโยชน์ในทางปฏิบัติจริง

ในครั้งนั้นเกาหลีใต้ได้รับเงินจำนวน 375 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากอเมริกาในนามงบประมาณป้องกันประเทศ ส่วนญี่ปุ่นใช้ภาษีจากประชาชนในการกอบกู้วงการเส้นใย เมื่อพิจารณาจุดนี้แล้วอาจจะเรียกได้ว่าเกาหลีใต้เก่งกว่าเราในระดับหนึ่งก็ได้
อย่างไรก็ตาม ทำไมนักการเมืองญี่ปุ่นถึงไม่คุยกับเราอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาเหมือนกับอเมริกา หากพูดกับเราตรง ๆ ตั้งแต่แรกว่า “การเรียกคืนเกาะโอกินาวะมีอยู่เพียงหนทางเดียวคือต้องยอมให้เส้นใยรับเคราะห์แทนเท่านั้น รัฐบาลจะชดเชยให้เป็นการตอบแทน ดังนั้นขอให้ร่วมมือในการลงนามข้อตกลง” เราก็คงไม่ขัดขืนถึงขนาดนี้ อย่างที่คิดไว้จริง ๆ ว่าข้อตกลงลับเป็นดั่งเครื่องพันธนาการที่ขัดแข้งขัดขา
ข้าพเจ้าเองได้ฟังรายละเอียดจากคนที่ได้ดูเอกสารที่บันทึกโดยล่ามผู้เข้าร่วมประชุมตัวต่อตัวระหว่างนายกรัฐมนตรี Sato และประธานาธิบดี Nixon และยังได้ฟังจากนาย Jurich อีกด้วย
เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาดังกล่าว ข้าพเจ้าเชื่อว่ามีข้อตกลงลับระหว่างญี่ปุ่นกับอเมริกา อาจเป็นไปได้ว่าผู้นำวงการเส้นใยส่วนหนึ่งในสหรัฐอเมริการู้เรื่องนั้นตั้งแต่แรกจึงได้แสดงท่าทีที่แข็งกร้าวเช่นนั้น
นอกจากนี้ ถึงแม้จะไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนในหนังสือเล่มนี้ แต่คาดว่าผู้เกี่ยวข้องใกล้ตัวนายกรัฐมนตรี Sato มีส่วนในการจัดทำร่างการจำกัดการนำเข้าของฝ่ายอเมริกาตั้งแต่แรก

  • ตัวแทนอุตสาหกรรมพบปะกับตัวแทนรัฐบาลที่ญี่ปุ่น - สหรัฐอเมริกา
    การเจรจาต่อรองไฟเบอร์มิยาซากิเป็นฝ่ายซ้ายที่สอง
  • การประชุมใหญ่ผู้ก่อตั้งสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศญี่ปุ่น
    มิยาซากิเป็นศูนย์กลางของภาพถ่ายม.ค. 1970