ประวัติของข้าพเจ้า, Kagayaki Miyazaki7. การเกิดใหม่ของ Asahi Kasei

ทั้งที่ได้กลับมาทำงานที่บริษัทแต่กลับมีบททดสอบอันยากลำบากรอข้าพเจ้าอยู่ การโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ในวันที่ 29 มิถุนายน 1945 ทำให้ Nobeoka ฐานการผลิตของบริษัทได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก โรงงานสารเคมี เบมเบิร์ก และพลาสติก รวม 3 โรงงาน มอดไหม้ไปจนหมด โรงงานอื่น ๆ สำหรับผลิตเรยอน ฯลฯ ก็พังทลายไปด้วยเช่นกัน ข้าพเจ้าวิ่งรอกเพื่อซ่อมแซมอาคารและเครื่องจักรรวมถึงเฟ้นหาวัตถุดิบและวัสดุเพื่อสร้างโรงงานขึ้นใหม่ ไม่มีเวลามาดื่มด่ำอยู่กับห้วงอารมณ์หลังสิ้นสุดสงคราม
วันที่ 1 เมษายน 1946 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น Asahi Chemical Industry คุณ Hori ดำรงตำแหน่งประธานบริษัทต่อ เงินทุนบริษัท 54,400,000 เยน ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน Tokyo ซึ่งในขณะนั้นการก่อสร้างเพื่อการบูรณะเป็นไปอย่างเร่งด่วน เราเริ่มงานผลิตเรยอน เบมเบิร์ก ฯลฯ อีกครั้ง และเปลี่ยนโรงงานดินปืนและแก๊ปโคนกระสุนเป็นการผลิตตามความต้องการของภาคเอกชนเป็นที่เรียบร้อย

เดือนมีนาคม 1947 ข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็นกรรมการบริหารเมื่ออายุ 38 ปี และเลื่อนขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใน 2 เดือนหลังจากนั้น ในจังหวะที่ข้าพเจ้าตั้งปณิธานใหม่ที่จะมุ่งไปข้างหน้าเพื่อการบูรณะกิจการอย่างเต็มรูปแบบในฐานะมือขวาของคุณ Hori แต่กรรมการบริษัทรวมถึงคุณ Hori กลับต้องออกจากบริษัทเนื่องด้วยกฎหมายขับไล่ออกจากตำแหน่ง (กฎหมายอันเนื่องมาจากสงคราม)
คุณ Shigeyuki Hamada เข้ารับตำแหน่งประธานบริษัทแทนแต่สิ่งที่รอพวกเราคณะผู้บริหารชุดใหม่อยู่เบื้องหน้าคือการประท้วงจู่โจมอย่างรุนแรง
การทวีความรุนแรงของการประท้วงของแรงงานเป็นหนึ่งในลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นในระยะปั่นป่วนหลังสงคราม ผู้ใช้แรงงานที่ได้รับการปลดปล่อยจากข้อจำกัดที่เข้มงวดในช่วงก่อนสงครามและระหว่างสงครามได้รวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานตาม ๆ กัน แต่เนื่องจากเป็นการปฏิรูปที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันจนเกินไปจึงเกิดความปั่นป่วนในท้องที่ต่าง ๆ เกิดเป็นกิจกรรมทำลายล้างแบบฝ่ายซ้ายสุดโต่งในหลายท้องที่

มกราคม 1946 ขณะที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน Tokyo ได้เกิดการจัดตั้งสหภาพเรยอนในเมือง Nobeoka หลังจากนั้นเพียงชั่วระยะเวลา 2 เดือน ได้มีการจัดตั้ง 7 สหภาพเป็นหน่วยงานคุ้มครองแรงงาน 8,000 คน แต่ละสหภาพได้จัดตั้งสหพันธ์ขึ้นทันที และในเดือนมีนาคมของปีเดียวกันได้เรียกร้องให้ทำสัญญาข้อตกลงแรงงานโดยเนื้อหาหลักอยู่ที่การเพิ่มค่าจ้าง 5 เท่าและต้องขอรับอนุมัติจากสหพันธ์ก่อนเมื่อต้องการเลิกจ้างหรือสั่งย้ายงานสมาชิกสหภาพ
ฝ่ายบริษัทคำนึงถึงการเกิดภาวะเงินเฟ้อจึงกำหนดแนวทางที่จะยอมรับการเพิ่มค่าแรงในระดับหนึ่งแต่ปฏิเสธมาตราที่ระบุการตกลงเรื่องการเลิกจ้างและสั่งย้ายงานโดยระบุว่าเป็นปัญหาของอำนาจการบริหาร ด้วยเหตุนี้ สหภาพจึงได้ดำเนินการประท้วงแต่เนื่องจากการเตรียมการทางฝ่ายบริษัทไม่พร้อม ในวันที่ 8 ของการประท้วง บริษัทจึงต้องยอมรับการเพิ่มค่าแรง 4 เท่าและยอมรับข้อตกลงแรงงานอย่างน่าอับอาย นี่เป็นความพ่ายแพ้อย่างเต็มรูปแบบของบริษัท
ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามในครั้งนี้ด้วยซึ่งในตอนนั้นข้าพเจ้าสัมผัสได้ถึงวิกฤตการณ์ว่า “หากปล่อยไว้เช่นนี้บริษัทจะไปไม่รอด” ดังนั้นเมื่อข้าพเจ้าเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้รับผิดชอบแรงงานและบุคลากร จึงแต่งตั้งนาย Yoshihisa Kuroda (อดีตรองประธานบริษัท) เป็นผู้จัดการแผนกแรงงาน ตามด้วยนาย Hiroshi Sakurai (อดีตกรรมการผู้จัดการ) เป็นผู้จัดการฝ่ายงานและส่งไปที่ Nobeoka ในทันที โดยมุ่งหวังให้ทั้งสองคนซึ่งเชี่ยวชาญด้านปัญหาแรงงานตรวจสอบความเคลื่อนไหวของสหภาพพร้อมกับสร้างแนวคิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานที่เดินทางสายกลางให้กับพนักงาน

สหภาพได้รับชัยชนะในศึกแรกจึงยิ่งเอียงไปทางฝั่งซ้ายยิ่งขึ้นและข้อเรียกร้องก็ยิ่งทวีคูณขึ้น ในเดือนมีนาคม 1948 พวกเขาได้เรียกร้องการเพิ่มค่าแรงครั้งใหญ่เป็นมูลค่ารวมถึง 120 ล้านเยนซึ่งเป็นตัวเลขที่เทียบเท่ายอดขายของบริษัทในระยะนั้นจึงไม่สามารถยอมรับข้อเรียกร้องนั้นได้อย่างแน่นอน
สหภาพได้ใช้ยุทธศาสตร์การประท้วงอีกครั้งแต่ในขณะนั้นความพยายามของทั้งนาย Sakurai และนาย Kuroda เป็นผลสำเร็จ ทำให้มีผู้ที่ถอนตัวออกจากสหภาพหรือยกเลิกการประท้วง เมื่อเป็นเช่นนั้นฝ่ายสหภาพจึงไม่สามารถแสดงท่าทีที่จะต่อสู้ต่อไปได้ ฝ่ายบริษัทจึงเป็นผู้ชนะ
แต่ทว่าการปะทะกันระหว่างผู้ใช้แรงงานและผู้ว่าจ้างยังไม่ได้สิ้นสุดลงแต่เพียงเท่านี้ เมื่อถึงเดือนสิงหาคม ฝ่ายสหภาพยังได้เรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้าง 40% อีกครั้งซึ่งครั้งนี้มีหน่วยงานสนับสนุนมากันพร้อมหน้าถึงเกือบ 1 หมื่นคน ผู้บริหารในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศญี่ปุ่นก็ได้มาปราศรัยปลุกปั่นด้วย นี่ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นในบริษัทเดียวแล้ว

ข้าพเจ้าได้รับมอบอำนาจทั้งหมดเกี่ยวกับปัญหานี้จากประธานบริษัทจึงแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวตั้งแต่ต้นจนจบเพราะข้าพเจ้าคิดว่าตราบใดที่ไม่ปรับปรุงทัศนคติฝั่งซ้ายสุดโต่งอันรุนแรงของสหภาพตั้งแต่ระดับรากเหง้า ก็จะเกิดเหตุการณ์เดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าและอาจจะถูกต้อนจนต้องล้มละลายในวันหนึ่ง
การเจรจาเป็นไปด้วยความแตกแยกจึงเกิดการประท้วงครั้งที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน แต่จำนวนสมาชิกของสหภาพที่สองซึ่งเป็นฝ่ายที่มีวิจารณญาณได้เพิ่มขึ้นและเติบโตเป็นกลุ่มกำลังในระดับหนึ่ง ข้าพเจ้าเป็นผู้นำโดยเข้าพักแรมในสหภาพดังกล่าว แต่ถึงกระนั้นในวันที่ 11 ตุลาคม ได้เกิดการปะทะกันระหว่างสมาชิกสหภาพที่สองที่ตั้งใจจะเข้าปฏิบัติงานกับสมาชิกสหภาพที่หนึ่งที่ถือป้ายประท้วงหน้าประตูทางเข้าโรงงานเรยอน เกิดเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บเล็กน้อยจนถึงสาหัสรวม 45 คน
แต่ “เหตุการณ์ประตูโรงงานเรยอน” นี้เป็นตัวจุดประกายให้สหภาพที่หนึ่งลดกำลังลงอย่างรวดเร็วและอำนาจของผู้นำย้ายไปอยู่ในมือของสหภาพที่สองโดยสมบูรณ์ สหภาพที่หนึ่งถูกต้อนจนต้องสลายตัวและข้าพเจ้าปลดฝ่ายบริหารของสหภาพที่หนึ่งออกจากบริษัททุกคน
ในที่สุดความขัดแย้งครั้งใหญ่ใน Nobeoka ก็ได้สิ้นสุดลง พนักงานได้เรียนรู้จากประสบการณ์อันล้ำค่านี้ว่าทั้งความรุ่งเรืองของบริษัทและการยกระดับการดำรงชีวิตของสมาชิกสหภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความร่วมมือระหว่างผู้ใช้แรงงานและผู้ว่าจ้าง ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันจึงไม่เกิดการประท้วงครั้งใหญ่อีกเลยแม้แต่ครั้งเดียว

  • สํานักงานใหญ่โตเกียว อาคารซันชิน ปี 1950