ประวัติของข้าพเจ้า, Kagayaki Miyazaki20. คณะกรรมการชั่วคราวตรวจสอบการปฏิรูปการปกครองรุ่นที่ 2

มีนาคม 1981 ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการชั่วคราวตรวจสอบการปฏิรูปการปกครองครั้งที่ 2 หลักการพื้นฐานของคณะกรรมการตรวจสอบชุดนี้คือการปฏิรูปการเงินโดยไม่ปรับขึ้นอัตราภาษีโดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่การจัดทำร่างการปฏิรูปการปกครองอย่างถึงรากถึงโคน
ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการควบคุมการปกครองเป็นระยะเวลา 6 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายน 1979 และได้มาสืบเนื่องมาเป็นสมาชิกในคณะกรรมการชั่วคราวในฐานะหนึ่งในตัวแทนวงการอุตสาหกรรม
กรรมการมีทั้งหมด 9 คน ประธานคณะกรรมการคือคุณ Toshio Togo (ประธานกิตติมศักดิ์ Nippon Keidanren: Japan Business Federation)
มีการเปิดประชุมคณะกรรมการชั่วคราวสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่หากเป็นระยะที่เร่งจัดทำบทสรุปรายงานเรามักจะจดจ่ออยู่กับการจัดทำร่างรายงานจนดึกทุกวันไม่เว้นวันเสาร์อาทิตย์
ในระยะเวลา 2 ปีจนถึงเดือนมีนาคม 1983 คณะกรรมการได้ส่งรายงานต่อนายกรัฐมนตรีโดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ รายงานฉุกเฉิน รายงานพื้นฐาน และรายงานฉบับสุดท้าย ซึ่งแต่ละครั้งหนังสือพิมพ์จะหยิบยกเป็นหัวข้อใหญ่ คาดว่าคงมีคนที่ทราบเนื้อหาของรายงานอยู่เป็นจำนวนมาก

หากให้ข้าพเจ้าเล่าความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้สั้น ๆ คงต้องบอกว่าเนื้อหาของรายงานไม่เป็นที่พอใจเสมอไปทั้ง ๆ ที่ใช้ความพยายามทุ่มเทเป็นอย่างมาก เพราะที่จริงเราต้องการหาทางแก้ไขปัญหาอย่างถึงรากถึงโคนยิ่งกว่านี้แต่เมื่อต้องให้ความสำคัญกับความเป็นไปได้ในการดำเนินการจริงจึงต้องทำตามความคิดเห็นของเสียงข้างมาก
แต่ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าเราประสบผลสำเร็จในระดับที่ดีพอสมควร ทั้งการลดงบประมาณเพื่อยับยั้งการปรับขึ้นอัตราภาษีหรือการเสนอการแปรรูปรัฐวิสาหกิจสำหรับการรถไฟแห่งชาติและองค์การโทรเลขและโทรศัพท์สาธารณะแห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ผลสัมฤทธิ์ในทางบวกเหนือสิ่งอื่นใดคือประชาชนทั้งชาติได้รับรู้ถึงความสำคัญของการปฏิรูปการเงินและการปฏิรูปการปกครอง

ทั้งนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าพื้นฐานของการบูรณะการเงินที่ตกต่ำอยู่ที่การลดรายจ่ายรายปีเป็นอันดับแรก ตามด้วยการใช้เงินภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ การพิจารณามาตรการเพิ่มภาษีนิติบุคคลโดยไม่ปรับอัตราภาษีก็เป็นสิ่งสำคัญแต่มีแนวโน้มว่าผู้รับผิดชอบงานปกครองมักจะคิดหาวิธีทางเทคนิคเพื่อปรับขึ้นอัตราภาษี ยกตัวอย่างเงินสำรองเมื่อออกจากงาน ที่ผ่านมาหากเป็นการออกจากงานโดยสมัครใจ 50% ของเงินสำรองเมื่อออกจากงานจะนับเป็นส่วนที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วส่วนที่ไม่ต้องเสียภาษีถูกลดเหลือ 40% และในการประชุมคณะกรรมการชั่วคราวในครั้งนี้มีความเคลื่อนไหวที่จะลดลงเหลือ 30%
มาตรการนี้เท่ากับเป็นการปรับขึ้นอัตราภาษีในทางปฏิบัติ ข้าพเจ้าจึงคัดค้านอย่างสุดความสามารถและยับยั้งไว้ได้แต่จากนี้ไปก็คาดว่าจะเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นอีก คงจะเป็นจุดที่ต้องเฝ้าระวังให้ดี

โดยเบื้องต้น เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้การเงินตกต่ำคือการไม่สามารถเก็บภาษีนิติบุคคลได้มากขึ้นเนื่องจากการเติบโตของบริษัทชะงัก ดังนั้น แม้มาตรการแก้ไขสำหรับแต่ละประเภทงานจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ควรดำเนินการต่อทุกวงการคือการมอบกำลังวังชาให้แก่บริษัทเพื่อเพิ่มจำนวนภาษีที่จะสามารถเก็บได้ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาแก้ไข
สำหรับการลดรายจ่ายรายปีก็เช่นกัน พื้นฐานอยู่ที่การลดจำนวนคนและจำนวนงานเพื่อลดค่าแรง ทั้งนี้ ค่าแรงซึ่งรวมทั้งระดับรัฐ เทศบาลท้องถิ่นและนิติบุคคลพิเศษสูงถึง 28 ล้านล้านเยน
ข้าพเจ้ารู้ดีว่าการลดจำนวนคนเป็นเรื่องยาก ดังนั้นจึงไม่ได้ต้องการเรียกร้องให้เลิกจ้างคนที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน

ข้อเสนอแนะของข้าพเจ้าคือ ทุก ๆ ปี ราว ๆ 4% ของข้าราชการทั้งหมดจะลดจำนวนลงตามปกติ ดังนั้นเพียงแค่ควบคุมอัตราการจ้างใหม่ในอัตรา 2% ของครึ่งหนึ่งก็จะสามารถประหยัดค่าแรงได้ถึงปีละ 2 ล้าน 5 แสนล้านเยน ใน 5 ปีข้างหน้า
สำหรับภาคเอกชน หากผลประกอบการตกต่ำลงจะหยุดการจ้างใหม่และอาจมีการเปิดสมัครใจให้ลาออกแล้วแต่กรณี ในรายงานของคณะกรรมการชั่วคราวก็ได้ระบุว่าจะลดจำนวนคนงานลง 5% ใน 5 ปี แต่ในขณะเดียวกันยอมรับการจ้างใหม่ แม้ว่าจะระบุในรายงานว่าจะมีการยับยั้งส่วนนี้แต่ก็ไม่อาจทราบได้ว่าจะลดลงสุทธิเท่าไร การใช้เงินภาษีก็มีปัญหาต่าง ๆ เช่นกัน ถ้าให้พูดถึงทุกปัญหาคงจะไม่พอหน้ากระดาษ ขอยกตัวอย่างปัญหาการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินระหว่างรัฐและท้องถิ่น

ปัจจุบันรัฐปล่อยกู้กองทุนเพื่อการลงทุนทางการเงินและเงินกู้จำนวน 11 ล้านล้านเยนโดยประมาณแก่เทศบาลท้องถิ่นทั่วประเทศเพื่อเป็นการชดเชยภาษีท้องถิ่นแต่ไม่คิดดอกเบี้ยเลยแถมรัฐเป็นผู้รับภาระออกเงินต้นถึงครึ่งหนึ่ง ข้าพเจ้าทราบว่าการดำเนินการเช่นนี้มีที่มาแต่ไม่ว่าอะไรจะเป็นเหตุผลก็ตาม รัฐได้ปล่อยกู้โดยไม่คิดดอกเบี้ยและแบกภาระเงินต้นถึงครึ่งหนึ่งจริง
สมมติว่าคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 7.3% ในปัจจุบันจะเก็บดอกเบี้ยเข้าคลังแห่งชาติได้ถึงปีละเกือบ 8 แสนล้านเยน เพียงแค่ตัวเลขนี้ก็สามารถช่วยปรับปรุงการขาดดุลงบประมาณได้และช่วยกระชับสภาพการเงินท้องถิ่นได้เช่นกัน ตั้งแต่ปี 1983 รัฐเก็บดอกเบี้ยครึ่งหนึ่งแต่พวกเราคิดว่าการเก็บดอกเบี้ยเต็มจำนวนเป็นเรื่องที่สมควรทำ

นาย Zenko Suzuki นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) ตัดรายจ่ายรายปีโดยรวมประมาณ 1 ล้านล้านเยนโดยการระงับประกาศสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (National Personnel Authority) เมื่อมองในระยะสั้น การดำเนินการนี้ส่งผลต่อการลดการขาดดุลได้ดีกว่าที่เราชาวคณะกรรมการชั่วคราวปรึกษาหารือกันเป็นเวลา 2 ปี เห็นได้ว่าหากนายกรัฐมนตรีใช้ความเป็นผู้นำในการดำเนินการจะสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้
สุดท้ายแล้วการปฏิรูปการเงินโดยไม่ปรับขึ้นอัตราภาษีเป็นปัญหาทางการเมืองซึ่งจะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและการลงมือทำจริงของนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าหวังที่จะเฝ้ามองความเป็นไปในฐานะผู้เข้าร่วมการพิจารณาคนหนึ่ง

  • จากซ้ายมือ มิยาซากิ โดโค (คณะกรรมการสอบสวนที่ ๒)
    ซูซูกิ (นายกรัฐมนตรีคนที่ 70) นากาโซเนะ (นายกรัฐมนตรีคนที่ 71)