My Personal History, Kagayaki Miyazaki3. จาก The Fifth High School สู่มหาวิทยาลัย Tokyo

เมษายน 1928 ข้าพเจ้าเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย The Fifth High School (มหาวิทยาลัย Kumamoto ในปัจจุบัน) แต่เดิมข้าพเจ้าถนัดวิชาสายวิทย์ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ฯลฯ มากกว่าแต่เนื่องจากไม่อาจละทิ้งความสนใจที่มีต่อปรัชญาได้จึงเลือกเรียนสายศิลป์

แม้ข้าพเจ้าจะจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นด้วยผลการเรียนอันดับหนึ่ง แต่อย่างว่า The Fifth High School เป็นโรงเรียนที่มีอัจฉริยะจากทั่วประเทศมารวมตัวกัน ซึ่งเด็กบ้านนอกอย่างข้าพเจ้ากับพวกที่จบจากโรงเรียนในเมืองหลวงนั้นต่างชั้นกัน โดยเฉพาะเรื่องภาษานั้นต่างระดับกันอย่างเห็นได้ชัด ข้าพเจ้าซึ่งเกลียดการแพ้หวังที่จะลดความเสียเปรียบทางด้านภาษานั้นจึงได้พยายามเรียนภาษาอังกฤษอย่างเขม้นขะมัก แน่นอนว่านอกจากอ่านหนังสือเรียนทบทวนบทเรียนและเตรียมสำหรับการเรียนในวันรุ่งขึ้นแล้วข้าพเจ้ายังรับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอ่านเป็นประจำและอ่านอย่างตะกละตะกลามทุกวัน
แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าจะเอาแต่เรียนอย่างเดียว ปีแรกข้าพเจ้าเข้าสังกัดชมรมยูโดและยังไปเที่ยวดื่มกินกับเพื่อน ๆ และร้องรำทำเพลงสนุกสนาน สมัยนั้นนักเรียนทุกคนในโรงเรียน The Fifth High School พักอยู่ในหอของโรงเรียน นาน ๆ ครั้งข้าพเจ้าเที่ยวเล่นจนเลยเวลาปิดประตูหอจึงต้องปีนรั้วเข้าหอเป็นบางครั้ง

ข้าพเจ้ามีความสนใจในปรัชญาของ Nishida อาจารย์ผู้สอนวิชาปรัชญาจึงมักจะแนะนำให้ข้าพเจ้า “ไปเรียนที่มหาวิทยาลัย Kyoto” ช่วงหนึ่งข้าพเจ้าก็ตั้งใจเช่นนั้นแต่เมื่อคิดใคร่ครวญดูแล้ว ในภาคเรียนที่ 3 ของปีที่ 3 ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจที่จะเรียนต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Tokyo
ตั้งแต่นั้นมาข้าพเจ้าพยายามอย่างเต็มที่ติดต่อกันทุกวันโดยไม่นอนบนที่นอน ข้าพเจ้าพับที่นอนกองไว้ที่มุมห้อง ใช้เป็นที่หนุนหลังขณะนั่งอ่านหนังสือที่โต๊ะ
เวลาอ่านหนังสือจนเหนื่อยแล้วง่วงนอนข้าพเจ้าจะเอนล้มไปด้านหลังแล้วนอนพักเอาแรง เมื่อตื่นขึ้นมาจะลุกมานั่งที่โต๊ะต่อ เป็นเช่นนั้นต่อเนื่องทุก ๆ วัน
สมัยนั้น สำหรับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ นอกจากมหาวิทยาลัย Tokyo ผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายระบบเก่าสามารถเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ได้โดยไม่ต้องสอบแต่มีเพียงมหาวิทยาลัย Tokyo เท่านั้นที่ต้องสอบเรียงความภาษาอังกฤษและสอบแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาญี่ปุ่น
และแล้วก็ถึงวันสอบ ข้าพเจ้าโชคร้ายที่มีไข้สูงถึงเกือบ 40 องศา เป็นเพราะข้าพเจ้าใช้กำลังกายหมดไปกับการอ่านหนังสือสอบทุกวันแถมยังไม่ชินกับการเดินทางไกลจากบ้านเกิด ทำให้เป็นหวัด

  • Miyazaki สมัยเรียนที่ The Fifth High School (แถวหลังขวา)

ข้าพเจ้ากินยาแอสไพริน หอบร่างกายโซเซของตนเองไปเข้าสอบ โชคดีที่ทั้งข้อสอบเรียงความภาษาอังกฤษและข้อสอบแปลอังกฤษ-ญี่ปุ่นมีศัพท์ที่ไม่รู้ความหมายเพียงคำเดียวในข้อสอบแต่ละชุดแต่ก็ไม่มั่นใจเลย ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่สามารถพักอยู่ที่ Tokyo จนถึงวันประกาศผลสอบแต่ฝากให้คนรู้จักดูผลให้ ส่วนตนเองเดินทางกลับบ้านเกิด
วันก่อนประกาศผลข้าพเจ้าได้แต่นอนพลิกไปพลิกมาแต่ไม่หลับเลย เมื่อถึงวันประกาศผลข้าพเจ้าเฝ้ารอโทรเลขแจ้งผลสอบด้วยความรู้สึกราวกับรอฟังประกาศโทษประหารชีวิต เมื่อได้รับโทรเลขจากไปรษณีย์ระหว่างทาง ข้าพเจ้าเปิดออกดูด้วยความหวาดกลัวแต่โทรเลขนั้นเขียนว่า “สอบผ่าน ไชโย” ชั่วเวลานั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่าไม่น่าเชื่อแต่หลังจากนั้นความดีใจได้พรั่งพรูออกมาว่า “เราสอบติดแล้ว!”

ข้าพเจ้าเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Tokyo ได้ด้วยความยากลำบากเช่นนี้แต่ช่วงแรกข้าพเจ้าไม่รู้สึกสนใจในตัวกฎหมายเท่าไรนัก คงเป็นเพราะข้าพเจ้าหลงใหลในปรัชญาอินเดียและปรัชญาของ Nishida มากจริง ๆ
แต่ถ้าเป็นเช่นนี้การเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ก็คงไร้ความหมาย ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเริ่มตั้งใจเรียนกฎหมาย ในชั่วโมงเรียนข้าพเจ้าจะนั่งแถวหน้าสุด เวลาไม่มีเรียนจะอ่านหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายในห้องสมุดจนครบทุกเล่ม ข้าพเจ้ามีนิสัยที่ถ้าจะทำอะไรทั้งทีจะต้องทำให้ถึงที่สุดไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม หลายปีหลังจากนั้นในครั้งที่ข้าพเจ้าก่อตั้งบริษัทกิจการร่วมค้ากับบริษัทต่าง ๆ หรือนำเทคโนโลยีมาใช้งานหรือทำสัญญาร่วมค้า ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบเนื้อหาสัญญาล่วงหน้าอย่างถี่ถ้วน
เมื่อได้เรียนกฎหมายอย่างคร่ำเคร่งในที่สุดก็เห็นถึงความน่าสนใจของมัน โดยเฉพาะวิชานิติปรัชญาโดยอาจารย์ Kenzo Takayanagi เป็นวิชาที่เป็นไปตามหลักตรรกวิทยาซึ่งตรงกับนิสัยของข้าพเจ้าที่ชอบคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ และเมื่อตอนที่อยู่ปี 3 ข้าพเจ้าเริ่มคิดว่า “อยากอยู่ในมหาวิทยาลัยต่อเพื่อเป็นอาจารย์นิติปรัชญา”

แต่ทว่า อยู่มาวันหนึ่งข้าพเจ้าได้ยินผู้ช่วยสอนถกเถียงกันในร้านโซบะใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย ทำให้ข้าพเจ้าได้ฉุกคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้น
โซบะเย็นของร้านนั้นรสชาติดีแต่ถ้าไม่กิน 2 ชามจะไม่อิ่มท้อง 2 ชามราคา 16 เซน ถ้าเป็นโรงอาหารใต้ดินที่อยู่ในมหาวิทยาลัยจะสามารถกินข้าวพูนชามได้ในราคา 15 เซน ปัญหาที่พวกเขาถกเถียงกันคือจะเลือกรสชาติหรือปริมาณซึ่งขึ้นอยู่กับส่วนต่าง 1 เซนนั้น
มันอาจจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพวกเขาแต่ผู้ช่วยสอนเป็นผู้ที่จะเติบโตเป็นศาสตราจารย์ในอนาคต พวกเขาถกเถียงกันอย่างเป็นจริงเป็นจังกับเรื่องแค่นี้หรือ คงเป็นเพราะเขาได้รับเงินเดือนน้อย แต่ข้าพเจ้าตั้งใจที่จะใช้ชีวิตที่ไม่ต้องห่วงเรื่องส่วนต่างเพียงแค่ 1 เซน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะก้าวเข้าสู่วงการธุรกิจ

  • ประตูหลักของมหมหาวิทยาลัย Tokyo (1930s)
  • นักศึกษามหาวิทยาลัย Tokyo (1934)