ประวัติของข้าพเจ้า, Kagayaki Miyazaki18. การพัฒนาเทคโนโลยี

ครั้งนี้ขอเปลี่ยนมุมมองมาคุยเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดชะตากรรมที่สำคัญของบริษัทผู้ผลิต
ถ้าเช่นนั้น เราควรจะทำอย่างไรเพื่อยกระดับศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เงื่อนไขแรกสุดคือการรวมพลนักเทคนิคหรือนักวิจัยเก่ง ๆ แต่เพียงแค่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดเป็นเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ที่ล้ำยุคได้
เพราะว่าแม้พวกเขาจะทำงานวิจัยอย่างลงลึกในสาขาที่เชี่ยวชาญของตนแต่พวกเขาไม่ค่อยถนัดการเชื่อมโยงเข้ากับงานวิจัยในสาขาอื่นเพื่อให้กำเนิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำใคร
แต่ ณ จุดที่มีการเชื่อมโยงวิธีการ A เข้ากับวิธีการ B เพื่อคิดค้นวิธีการ C ซึ่งเป็นวิธีการใหม่ขึ้นมา จะเป็นฐานแห่งการเกิดความคิดริเริ่มของเทคโนโลยี

กล่าวคือ ผู้นำบริษัทอาจไม่เข้าใจเรื่องเฉพาะทางของเทคโนโลยีแต่สิ่งสำคัญคือต้องมีไอเดียหรือแรงบันดาลใจในการค้นหา C ตัวนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการพัฒนาเยื่อแบบแลกเปลี่ยนประจุไอออนและยางประเภทเดียวกัน งานวิจัยนี้เริ่มราว ๆ ปี 1950 โดยจุดเริ่มต้นมาจากการที่ได้อ่านบทความเล็ก ๆ ในหนังสือพิมพ์หนึ่ง ณ ที่พักขณะที่ข้าพเจ้าและนาย Yoshio Tsunoda (ดำรงประธานบริษัท Asahi-Dow ในภายหลัง) ไปเยือนสหรัฐอเมริกา
เมื่อได้อ่านบทความที่เขียนว่า “ทั้ง ๆ ที่ปลาอาศัยอยู่ในทะเลแต่ทำไมเนื้อปลาถึงไม่มีรสเค็ม” นาย Tsunoda บอกว่า “ศึกษาองค์ประกอบของหนังปลาแล้วน่าสนใจดี” ข้าพเจ้าก็มีไอเดียผุดขึ้นมาในสมองเช่นกัน คงเป็นสัญชาตญาณของผู้บริหาร

ดังนั้นเมื่อเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น ข้าพเจ้าได้สั่งการให้ดำเนินการวิจัยทันที ผลที่ได้คือแม้จะมีการลองผิดลองถูกมากมายแต่ตัวอย่างหนึ่งที่เราได้ค้นพบคือเราสามารถสร้างเยื่อที่ปล่อยให้ไอออนประจุบวกหรือไอออนประจุลบอย่างใดอย่างหนึ่งผ่านได้โดยนำเยื่อยางสังเคราะห์ เช่น สไตรีนและไดไวนิลเบนซีน มาผ่านกระบวนการทางเคมี
อันดับแรกที่เราใช้คุณสมบัติเฉพาะนี้มาพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมคือการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล
แต่ทั้ง ๆ ที่การทดลองในโรงงาน Kawasaki เป็นไปได้ด้วยดีแต่กลับไม่สำเร็จเมื่อทำที่หาด Onahama (เมือง Iwaki จังหวัด Fukushima) ซึ่งเป็นสถานที่ที่เรามีกำหนดก่อสร้างโรงงาน ถึงขั้นที่มีสมาชิกในทีมวิจัยตั้งข้อสันนิษฐานที่ไม่อิงตามหลักวิทยาศาสตร์ว่าน้ำทะเลใน Kawasaki ต่างจากน้ำทะเลใน Onahama นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราพบปัญหาหนัก
งบการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างทับถมจนเกิน 1 พันล้านเยนภายใน 10 ปี เงิน 1 พันล้านเยนในสมัยนั้นเป็นเงินจำนวนมหาศาล แน่นอนว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภายในบริษัทแต่เนื่องจากข้าพเจ้ารู้สึกว่าน่าจะเป็นธุรกิจที่มีอนาคตจึงได้ให้การสนับสนุนทีมวิจัย
เทคโนโลยีผลิตเกลือด้วยเยื่อแบบแลกเปลี่ยนประจุไอออนสำเร็จในปีที่ 11 นับตั้งแต่เริ่มงานวิจัย เราได้สร้างโรงงานผลิตเยื่อแบบแลกเปลี่ยนประจุไอออนที่ Kawasaki และสร้างโรงงานผลิตเกลือของบริษัท Shin-Nihon Kagaku Kogyo ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเราที่ Onahama ในทันทีและเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ปี 1961
ตั้งแต่นั้นมา การผลิตเกลือโดยใช้นาเกลือหรือวิธีการผลิตเกลือโดยเครื่องจักรแบบที่ผ่าน ๆ มาก็ค่อย ๆ หายไป ปัจจุบันบริษัทที่เกี่ยวข้องกับAsahi Kasei เป็นผู้ผลิตเกลือถึงเกือบ 50% ของปริมาณการผลิตเกลือสำหรับบริโภคของทั้งประเทศญี่ปุ่น

สิ่งที่เราทดลองทำในลำดับถัดมาคือการผลิตโซดาไฟ การวิจัยในช่วงแรกนิยมวิธีการผลิตโซดาไฟโดยใช้เยื่อ 2 แผ่นแยกประจุไฟฟ้าในน้ำเกลือแต่ข้าพเจ้ารู้สึกสงสัยว่ายังไม่เป็นการประหยัดที่พอสมควร
ดังนั้นข้าพเจ้าจึงได้สั่งการให้นาย Maomi Seko ผู้นำทีมพัฒนาเยื่อแบบแลกเปลี่ยนประจุไอออนของ Asahi Kasei ทบทวนวิธีการผลิตอีกครั้งซึ่งคำตอบของนาย Seko เป็นไปตามที่ข้าพเจ้าคิด
ข้าพเจ้าสั่งการให้เร่งทำการวิจัยวิธีผลิต 2 ช่องโดยใช้เยื่อแผ่นเดียวและสั่งการสร้างโรงงานขนาดใหญ่สำหรับการนั้นในทันที ดูเหมือนว่าทีมเทคนิคซึ่งนำโดยนาย Seko จะประสบความยากลำบากครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ในที่สุดพวกเขาก็ได้ตอบสนองต่อความคาดหวังของข้าพเจ้าโดยการผลิตโซดาไฟด้วยเยื่อแบบแลกเปลี่ยนประจุไอออนแผ่นเดียวได้สำเร็จเป็นรายแรกในโลก
ปัจจุบันเราส่งออกเทคโนโลยีนี้ไปยังบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งราว ๆ 60% ของการผลิตโซดาไฟโดยใช้เยื่อแบบแลกเปลี่ยนประจุไอออนทั่วโลกเป็นการผลิตโดยวิธีการของ Asahi Kasei

ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีเยื่อแบบแลกเปลี่ยนประจุไอออนและยางไม่ได้ใช้เพียงแค่ในการผลิตโซดาไฟเท่านั้นแต่ยังใช้ในสาขาต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น การขจัดเกลือออกจากน้ำเค็ม การรีไซเคิลน้ำทิ้ง การผลิตอะดิโพไนไตรล์ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับไนลอน 66 หรือในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีอนาคตไกล
ในบรรดาตัวอย่างทั้งหมด การเสริมสมรรถนะยูเรเนียมด้วยกรรมวิธีแลกเปลี่ยนทางเคมีที่ Asahi Kasei คิดค้นขึ้นอาจช่วยลดต้นทุนให้ต่ำกว่าวิธีเก่า ๆ เช่น การแยกโดยใช้เครื่องเหวี่ยงแยกสารหรือการกระจายก๊าซ และยังเป็นเทคโนโลยีล้ำยุคที่ใช้เพื่อสันติภาพเท่านั้น เราได้สร้างอุปกรณ์ทดลองเรียบร้อยแล้วเหลือเพียงปัญหาการประหยัดต้นทุนเท่านั้น
จุดนี้ก็เช่นกัน ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งสำคัญที่ผู้นำของบริษัทจะต้องมีคือไอเดียที่แตกต่างไปจาก “นักเทคนิค” และทัศนคติที่จะพยายามจนกว่าจะสำเร็จ

  • โรงงานโซดาไฟโดยใช้เยื่อแลกเปลี่ยนไอออนและซิซิเทมเมมเบรน Nobeoka 1975